The Art of Romanticizing Venice

Venice Biennale 2Venice Biennale 1
I know nothing about art. Although I very much enjoy many forms of it, I do not have knowledge about art theories or history to be able to discuss or judge art pieces beyond the level of personal appreciation. Often I do not understand why the masterpieces are masterpieces. But definitely I can tell which pieces I like, and can articulate my very personal interpretation of their communication to me.
A few days ago I was in Venice. It was en route to our vacation in Croatia and we had been to Venice before, but thought it was still a good idea to make a stop. Coincidently the Biennale was taking place there. Without a specific purpose rather than enjoying the romantic ambience and candle-lit dinner after sundown Bellini, we decided to take advantage of the biannual event to peruse some art exhibitions that would come across on our strolling path from Santa Maria church to Accademia and Rialto and San Marco.
It is easy to wow an art-ignorant person like me. First, I love the way Venice organizes the exhibitions by spreading them among those fabulous, past-glorious palazzos. One of the art forms that I appreciate most is architecture; hence I was very excited to be able to legally snoop inside those glamorous, but normally closed to public, palazzos while visiting the exhibitions. Some of them stand elegantly on the Grand Canal banks which always make you wonder what inside would be like when cruising by. The tour of palazzos itself was already a marvelous discovery for me.
Then the exhibitions; I didn’t expect most of them (that we visited) to be installation art which is another form of art that always captivates me. Having been a marketeer and working with advertising agencies my entire career make me deeply appreciate creativity. But how ignorant I am, I told myself, that I was not so aware and up-to-date about such creativity of the latest installation arts! We entered a room where in the middle of the floor laid thousands of small white cement blocks in various geometric shapes. Most were leveled but some stood taller and a few some came in different colors. It was such a simple lego type of arrangement any child could do, except that in the zoom-out such creation turned to be a resemblance of a vast, expanded metropolitan landscape pattern we are familiar with from bird-eye view photography. How simple the technique can be to create such a visual effect. And the beauty is; the next installment will never be identical to the previous ones. All needed indeed is a creative mind.
Then we went through rooms and rooms that displayed installations in all different forms. In a museum-like living room we heard a woman’s voice murmuring something from a room upstairs. We walked up to see a private room full of bookshelves and a young lady sitting on a chair reading a book out loud like she was consumed in her own world. It was not so clear what she was reading but that didn’t matter. It was the exhibition of human’s private indulgence during spiritual consumption moment. And by designing it for us to witness in such a natural manner, it enhanced the beauty of it dearly.
Next room presented a script written on 2 walls with mini-billboard-size letters. The twist was that some words were replaced with different geometric shapes and colors. How true is it that as a human we fill in the blanks based on our own paradigms thus reinforce our perception as reality. Then it was a room televised acting scenes in a film by a young Japanese actor saying his last words to parents before heroic hara-kiri. Three screens were projected simultaneously of the same shots but from different camera perspectives. It was one same closed-up face, same repetitive script, same camera angles; simple, plain, and possibly boring to some of us, but his exponentially intensified emotions made us tear up unconsciously. I don’t think it was his acting that made us cry. It was the focus of just one element; his acting speech, without informing us of the rest of the story, that allowed us to imagine the context and aftermath. THAT imagination made us cry.
The surprise to me was exhibitions from the far-eastern European countries like Azerbaijan. I never imagined such quantity and depth in quality of artists from there. I enjoyed many 3-dimensional installations that turned into a surprise. A piece of metal formed into an indescribably messy shape was far from aesthetic appearance and attraction. But a light projection through it revealed a picture of a man in an ethnic costume reading a book on a chaise. How could the artist conceive it? Next room displayed a similar metal piece but there was a posted instruction for us to look at that structure through our own camera. Filled with curiosity, I lifted the camera to the front of my eyes. A sentence appeared amazingly from that chaotic formation of metal pieces reading “It’s not a chaos.” Whoa! What we see indeed depends on the lens we look through.
And what about gondolas, beef Carpaccio, Bellini, Murano glass, Venetian carnival masks, and romantic kisses on Rialto Bridge? Well, they were still there like 16 years ago as well as crowded tourists at San Marco. The uniqueness of charming Venice is still unbeatable. But what erased the word ‘cliché’ from my description of this must-go-before-you-die city is the Biennale indeed. Without the attempt to set up such an operation every 2 years, Venice would definitely still be on the tourists’ top romantic list. But embracing modern arts into heritage beauty increases the romance bar of the city even more in my opinion. Above all, I thank her for giving me an unexpected opportunity to update myself how far modern art has evolved to. I still say I know nothing about art beyond personal contemplation, though.
ถ้าจะคุยกันเรื่องศิลปะแล้วขอบอกว่าฉันไม่มีความรู้ความชำนาญจะเอาไปถกอะไรกับใครได้เลย ถึงแม้จะชอบดูชอบชมและปลาบปลื้มในศิลปะหลายแขนงอยู่แต่ก็ไม่มีภูมิวิชาการอะไรประดับตัวทั้งสิ้น บางทีก็ดูไม่รู้เรื่องไม่เข้าใจว่าทำไมศิลปะบางชิ้นถึงเป็นงานศิลป์สำคัญระดับโลก แต่ที่รู้แน่ๆคือรู้ว่าตัวเองถูกใจไม่ถูกใจแบบไหน และบอกได้ว่าดูแล้วได้แง่คิดหรือแรงบันดาลใจอะไรจากงานชิ้นนั้นๆ
เมื่อไม่กี่วันก่อนนี้ฉันไปเวนิสมา จริงๆเราสองคนเคยมากันแล้วแต่เป็นทางผ่านจะไปโครเอเชียเลยตกลงกันว่าแวะเยี่ยมชมความโรแมนติกของเมืองและจิบเบลลินี่ยามตะวันรอนชิลๆรื้อความจำสักหน่อย บังเอิญว่าเป็นช่วงที่เมืองมีงานเบียนาเล่หรืองานจัดนิทรรศการศิลปะใหญ่อันขึ้นชื่อของเวนิสซึ่งจัดทุกสองปี ไหนๆก็มาถึงที่แล้วเลยชวนกันเข้าชมงานแสดงดีกว่า เลือกชมเอาพอหอมปากหอมคอตามความสะดวกว่า เจองานแสดงชุดไหนตามเส้นทางเดินจากโรงแรมเราที่โบสถ์ซานตามาเรียไปสะพานอะคาเดเมีย สะพานริอัลโต้จนถึงจตุรัสซานมาร์โค ถ้าถูกใจก็เข้าชมตามนั้น ไม่ต้องกำหนดล่วงหน้าให้เครียดว่าจะไปชมงานของใครๆ
คนไม่รู้เรื่องศิลปะอย่างฉันนี้ไม่ต้องอะไรมากเลย แค่การได้เข้าไปในปาลาซโซ่หรือวังโบราณต่างๆของเวนิสที่ใช้กระจายกันจัดแสดงงานก็ตื่นตาตื่นใจมากแล้ว ฉันชอบจริงๆที่เขานำวังทั้งหลายมาเปิดใช้จัดงานแบบนี้ แทนที่จะเอางานไปจัดรวมกันแค่ในศูนย์งานแสดงอย่างเดียว เพราะนอกจากจะได้ชมวังเก่าซึ่งปกติอาจปิดไม่ให้คนนอกเข้าไปชมด้วยเป็นของแถมแล้ว ยังเป็นการกระจายนิทรรศการให้เข้าไปแทรกอยู่ตามจุดต่างๆของเมือง เพิ่มโอกาสให้คนที่อาจไม่ตั้งใจเข้าชมได้เข้าชมง่ายขึ้น ไม่จำเป็นต้องวางแผนใช้เวลาทั้งวันให้หมดไปกับนิทรรศการอย่างเดียว คนหลงรักสถาปัตยกรรมอย่างฉันจึงตื่นเต้นเป็นพิเศษที่ได้เข้าไปสอดรู้ดูเห็นบรรดาวังต่างนั้น โดยเฉพาะบางตึกเห็นจากแกรนด์คาแนลเวลานั่งเรือผ่านแล้วสงสัยมากว่าข้างในจะเป็นอย่างไร
ส่วนตัวนิทรรศการนั้นก็สร้างความประหลาดใจและทำให้ดีใจมาก ตรงที่งานส่วนมากที่เราเข้าชมนั้นเป็นงานศิลปะจัดวาง เพราะอันนี้เป็นศิลปะแขนงหนึ่งที่ถูกใจใช่เลยกับฉันมากๆ ในฐานะที่ฉันเป็นนักการตลาดและทำงานกับนักโฆษณามาตลอดอาชีพจึงนิยมความคิดสร้างสรรค์ในทุกๆด้านอยู่แล้ว งานศิลปะจัดวางนั้นเป็นของใหม่ฉันจึงพบว่ามันมีความสร้างสรรค์แปลกๆที่ไม่เคยเห็นให้ตื่นตาตื่นใจอยู่เสมอ ยิ่งได้มาชมงานที่เบียนาเล่ครั้งนี้ต้องอุทานในใจว่าเรานี่ช่างตกยุคจริงๆ ศิลปะสมัยนี้ไปถึงไหนๆเราไม่รู้เรื่องเลย แต่ละงานที่เห็นน่าชื่นชมที่สุด ตื่นเต้นจนจำไม่ไหวว่าเห็นอะไรมาบ้าง รูปเขาก็ห้ามถ่ายเป็นส่วนมาก เท่าที่จำได้ห้องแรกที่เตะตาคือพอเดินเข้าไปแล้วทั้งพื้นห้องตรงกลางปูเรียงด้วยก้อนปูนขนาดเล็กสีขาวรูปทรงเรขาคณิตต่างกันเต็มไปหมด ส่วนมากแบนราบในระดับเดียวกันแต่จะมีชิ้นที่สูงโผล่ขึ้นมาเป็นระยะๆ และมีบางชิ้นนิดหน่อยเป็นสีสันสดใสพุ่งโดดขึ้นมา ดูใกล้ๆก็เหมือนเอาชิ้นปูนมาเรียงติดๆกันเป็นพืดง่ายๆ เหมือนเด็กๆต่อเลโกเป็นก็ทำได้ แต่พอเดินออกมาดูไกลๆภาพที่เห็นนั้นคือการจำลองผังมหานครใดเมืองหนึ่งที่คุ้นตาเราๆจากภาพถ่ายทางอากาศนั่นเอง ไม่น่าเชื่อเลยว่าการสร้างงานศิลป์ที่ให้ภาพประทับใจแบบสามมิตินี้ทำขึ้นมาด้วยเทคนิคง่ายแสนง่ายเพียงแค่จัดเรียง ต้องมีหัวสร้างสรรค์เท่านั้นจึงจะคิดอะไรแบบนี้ได้ เสน่ห์อีกอย่างหนึ่งของศิลปะจัดวางที่ฉันชอบนักก็คือต่อให้เอาไปจัดเรียงอีกกี่ครั้งก็ยากที่จะให้เหมือนเดิมเป๊ะ มันเลยเหมือนว่าของดีมีให้ดูครั้งเดียวเท่านั้น
แต่ละห้องที่เข้าชมนั้นจัดแสดงศิลปะจัดวางในรูปแบบที่แทบไม่ซ้ำกันเลย นอกจากการจัดวางวัตถุเป็นสามมิติแล้วยังมีการจัดเรียงแสง เสียง ภาพยนต์ เงา เรียกว่าทุกอย่างที่สัมผัสได้เอามาสร้างสรรค์เป็นงานศิลป์ได้หมด ตอนที่เราเข้าไปอยู่ในห้องแสดงงานแสงเงาที่จัดในห้องนั่งเล่นนั้น เราได้ยินเสียงผู้หญิงพูดอะไรพึมพำลอดมาจากห้องชั้นบน ชวนให้สงสัยว่ามีอะไรอยู่ หรือจะเป็นห้องส่วนตัวในวังเก่านั้น พอเราเดินโผล่ขึ้นไปจึงเห็นว่ามีผู้หญิงสาวคนหนึ่งแต่งตัวธรรมดาแบบเรานี่แหละนั่งอ่านออกเสียงหนังสือเล่มหนึ่งอยู่อย่างจดจ่อตั้งใจเหมือนหลุดเข้าไปในโลกแห่งหนังสือนั้น เธออ่านเป็นภาษาอังกฤษซึ่งจับใจความได้ไม่หมดว่าอ่านอะไร แต่นั่นไม่ใช่ใจความสำคัญ เพราะสิ่งที่ฉันเห็นอยู่นั้นคือการแสดงอารมณ์แห่งความเพลิดเพลินประโลมใจทางจิตวิญญาณของมนุษย์ ที่ช่างสวยงามน่าชื่นชม โดยเฉพาะเมื่อออกแบบประหนึ่งให้เราเข้าแอบดู ช่างเป็นธรรมชาติจริงๆ
ห้องต่อมาเป็นกำแพงขาวธรรมดาที่สองด้านพิมพ์บทความด้วยอักษรตัวโตให้เรายืนอ่านกลางห้องได้ตั้งแต่ต้นจนจบ ที่น่าสนใจคือคำบางคำนั้นได้ถูกแทนที่ด้วยภาพกราฟฟิกต่างๆกันไปเช่นสามเหลี่ยมสีแดง สี่เหลี่ยมสีน้ำเงิน วงกลมสีดำเป็นต้น ฉันไม่รู้ว่าข้อความที่ฉันอ่านออกมาในใจจะเหมือนกับที่คนอื่นๆอ่านมากน้อยเพียงไหน เพราะมนุษย์เราเติมคำในช่องว่างด้วยกรอบความคิดของตัว สร้างเรื่องราวและความเชื่อตามที่ตัวเองอยากเชื่อ และสุดท้ายมันก็จะกลายมาเป็นความจริงตามที่เราเชื่อนั้น ห้องถัดมาเป็นวิดิโอที่ฉายบนจอสามจอพร้อมๆกัน เป็นฉากเดียวกันแต่ซูมด้วยกล้องคนละตัวจึงเห็นจากคนละด้าน ภาพยนตร์ที่ฉายแสดงโดยหนุ่มญี่ปุ่นคนเดียวเท่านั้น เห็นเพียงแค่ใบหน้าลงมาไม่เกินครึ่งตัวยืนอยู่หน้ากำแพงหนึ่ง เขาเพียงกล่าวคำพูดสุดท้ายสั่งลาพ่อแม่ก่อนปฏิบัติการฮาราคีรีปลิดชีวิตตัวเองเพื่อชาติ เป็นเหมือนการพูดซ้ำๆ แต่ดังขึ้นๆ เข้มข้นขึ้น จนถึงจุดที่เค้นให้น้ำตาเราไหลออกมาโดยไม่รู้ตัว เป็นภาพยนตร์บันทึกที่เรียบง่ายธรรมดาเป็นที่สุด และอาจจะน่าเบื่อสำหรับบางคนด้วยซ้ำ การแสดงของเขาไม่ใช่สิ่งที่ทำให้เราหลั่งน้ำตา มันไม่ได้ดีเลิศขนาดนั้น ฉันเชื่อว่าการที่กล้องและการแสดงจดจ่ออยู่แต่เพียงภาพเดียว คำพูดซ้ำๆไม่กี่ประโยค ไม่มีเนื้อหาสาระอื่นใดให้เราเห็นหรือรับรู้เลยนั้น มันทำให้เราจินตนาการไปถึงสาเหตุ เรื่องราว และสิ่งที่อาจเกิดขึ้นหลังคำลานั้น เราไม่เห็นด้วยซ้ำว่าเขาทำอะไรและฮาราคีรีจริงหรือไม่หลังจากนั้น แต่การที่สิ่งที่แสดงเว้นช่องว่างไว้ให้เราจินตนาการมากขนาดนั้นโดยทำเพียงหยอดอารมณ์อย่างรุนแรงไว้ให้เราอย่างเดียวนั่นแหละ คือการเจตนาให้เราหลั่งน้ำตาด้วยจินตนาการของเราเอง
อย่างหนึ่งที่ฉันไม่คาดคิดคือนิทรรศการที่มาจัดแสดงนั้นมีมาจากประเทศยุโรปตะวันออกที่เคยเป็นรัสเซียเก่าอยู่มากทีเดียว เช่นอาเซอร์ไบจัน ไม่เคยนึกมาก่อนเลยว่าประเทศนี้จะมีศิลปินที่มีคุณภาพระดับสากลหลายคนอยู่ งานศิลปะจัดวางที่เขาเลือกมาแสดงนั้นแจ๋วโดนใจอย่างไม่คาดคิด เช่นชิ้นงานโลหะดัดที่ยุ่งเหยิงดูไม่ออกว่าเป็นรูปอะไร และไม่มีความสวยงามประการใดเลยแม้แต่น้อย แต่เขาเอาไฟโปรเจ็คเตอร์ฉายผ่านชิ้นงานพุ่งไปบนผนังสีขาว ภาพที่เห็นปรากฎนั้นคือภาพชายในชุดพื้นเมืองนั่งเอกเขนกอ่านหนังสือบนตั่งนอน เหล็กดัดที่พันกันอุตลุดนั้นกลายเป็นลายเส้นเงาดำวาดบนพื้นกำแพง ดูแล้วสงสัยจริงๆว่าศิลปินเขา”เห็น”ได้อย่างไรว่าเงาที่จะเกิดนั้นจะออกมาเป็นภาพที่ต้องการได้ ไหนยังต้องคำนวณระยะห่างของแสงและมุมฉาย ถ้าผิดจังหวะไปนิดเดียวภาพก็จะบิดเบี้ยวไป ห้องถัดมามีงานคล้ายกันจัดวางอยู่ เป็นชิ้นโลหะดัดพันกันยุ่งๆเหมือนเดิม แต่คราวนี้มีป้ายเขียนไว้ว่าให้ผู้ชมมองชิ้นงานผ่านกล้องถ่ายรูปของตัวเอง ฉันรีบยกกกล้องขึ้นส่องด้วยความอยากรู้ ภาพเหล็กอันยุ่งเหยิงนั้นกลับปรากฎเป็นคำภาษาอังกฤษว่า “It’s not a chaos.” มันโดนตรงที่ว่า เรากำลังคิดอยู่ในใจว่าศิลปะอะไรยุ่งเหยิงอย่างนี้ แต่ประโยคที่เห็นผ่านกล้องกลับเขียนว่า “นี่ไม่ใช่ความยุ่งเหยิง”(อย่างที่คุณคิด) นี่คือความจริงที่ตอกย้ำอีกครั้งว่า มนุษย์แต่ละคนนั้นอาจจะมองสิ่งเดียวกันออกมาเป็นภาพที่ไม่เหมือนกัน ใครจะมองเห็นภาพอะไรมันก็ขึ้นกับว่าคนนั้นมองผ่านด้วยเลนส์หรือกรอบความคิดอะไรนั่นเอง
ถ้าจะถามว่าแล้วเป็นไงได้กลับไปเห็นเวนิสในมุมโรแมนติกอย่างที่ตั้งใจไว้ไหม ก็ต้องตอบว่าทุกอย่างมันก็อยู่ของมันอย่างเดิมแบบยี่ห้อเวนิสนั่นแหละไม่เปลี่ยนแปลง ทั้งเรือกอนโดล่า บีฟคาร์ปาชิโอ เบลลินี่ แก้วมูราโน่ หน้ากากแฟนซีคาร์นิวัล และจุมพิตบนสะพานริอัลโต้ รวมทั้งนักท่องเที่ยวที่อยากไปเห็นสิ่งเหล่านั้นที่แน่นจตุรัสซานมาร์โค จริงอยู่ที่ว่าเสน่ห์ไม่เหมือนใครแบบเวนิสก็ยังไม่มีใครเลียนแบบสู้ได้อยู่ดี แต่ภาพพจน์ที่ชินตาเหล่านั้นมันก็กลายเป็นเรื่องน่าเบื่อสำหรับนักท่องโลกตัวจริงได้เหมือนกัน หากคราวนี้ฉันคงต้องลบความน่าเบื่อของภาพเดิมๆนั้นออกไปก็เพราะเบียนาเล่นี่แหละ ต่อให้เวนิสไม่ต้องมาเหนื่อยจัดเบียนาเล่ก็คงจะยังติดอันดับเมืองโรแมนติกของโลกอยู่ดี แต่ฉันว่าการที่เมืองไม่หยุดนิ่ง กลับเอางานศิลปะสมัยใหม่เข้ามาผสานเสน่ห์เข้ากับเมืองเก่านี้ยิ่งทำให้เมืองโรแมนติกยิ่งขึ้น ฉันคงต้องขอบคุณเวนิสที่ทำให้จับพลัดจับผลูได้มาเพิ่มความรู้ว่าศิลปะสมัยนี้เขาไปถึงไหนกันแล้วในระดับโลก เอาเถอะ..ถึงอย่างไรฉันก็ยังเจียมตัวอยู่ดีว่าไม่รู้เรื่องศิลปะมากเกินไปกว่าแค่ใช้คิดและเป็นแรงบันดาลใจส่วนตัวเท่านั้นเอง

One comment on “The Art of Romanticizing Venice

  1. kapowdirek says:

    ชอบภาษาไทยจ่ะฟ้า มันสละสลวยสวยงาม ภาษาอังกฤษไอ้กระผมมันไม่แข็งแรง ดีใจที่ฟ้าจับคีย์บอร์ดอีกครั้ง รอทริปต่อไปจ่ะ

Leave a comment